วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2558

Life Quality of Online Seller มโนโซเชียล ชีวิตนักขายออนไลน์


Life Quality of Online Seller

 



ปกติผมไม่ชอบขึ้นสเตตัสนั่นนี่โชว์ชีวิตประจำวัน เพื่ออวดอะไรใคร เพราะไม่รู้จะอวดใคร อวดไปเพื่ออะไร และไม่มีอะไรจะให้อวด แต่ที่เมื่อเช้าโพสต์เรื่องไปเล่นน้ำกับลูกในห้างเพราะมันมีเรื่องมาเล่าให้ฟังครับ หากสนใจก็อ่านตามมาได้เลย

  1. ปกติทุกเย็นวันศุกร์ต้องพาลูกไปเล่นโรลเลอร์เบลดที่สนามในห้าง เพื่อออกกำลังกาย แต่ทุกครั้ง ที่สนามเล่นจะเจอกลุ่มวัยรุ่นพม่ามาโชว์ลวดลายการเล่นชนิดที่คนไทยอาย
  2. เวลาไปสวนสาธารณะอย่างจตุจักรในวันเสาร์อาทิตย์ จะเจอกลุ่มพม่าแต่งตัวสวยงามอย่างกับลอกหนังสือแฟชั่น มานั่งพักผ่อนหย่อนใจกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ทุกรอบ 
  3. วันนี้ไปว่ายน้ำก็เจอกลุ่มพม่ายกขบวนมาเล่นน้ำกันในห้างอย่างสนุกสนาน
  4. สิ้นเดือน บนห้างใหญ่จะเจอพม่ามาจับจ่ายใช้สอย ซื้อมือถือ ซื้อทอง ซื้อเสื้อผ้ากันเนืองแน่น

ผมไม่ได้มีอคติทางเชื้อชาติใดๆ ทั้งสิ้นนะครับ ที่เอามาพูดถึงเพราะอยากให้เห็นอะไรบางอย่าง


วันก่อนได้คุยกับเซียนอีเบย์ท่านนึง ได้พูดถึงคนรู้จักเรื่องการขายของว่าเขาขายของดี ขายหนักมาก วันๆ แทบไม่มีเวลาหยุดพักต้องแพคของกันทั้งวัน “ขายดีแต่ไม่มีคุณภาพชีวิต” น่าสนใจนะครับคำนี้


ผมเคลมลูกค้าประกันหลายคน ที่ชีวิตวันๆ วุ่นวนมาก ทำงานตัวเป็นเกลียว หาเงินเข้าบ้านอย่างบ้าคลั่ง ภูมิอกภูมิใจในความสามารถเรื่องการหาเงินของเขามาก อวดร่ำอวดรวย อวดหน้าตาให้คนอื่นได้เห็นว่าฉันรวย อวดบ้าน อวดรถ แต่คนพวกนี้ไม่มีเวลาที่จะให้กับเรื่องอื่นเลย ไม่ว่าจะเรื่องครอบครัว เรื่องสุขภาพ เรื่องออกกำลังกาย แถมเศรษฐีร้อยล้าน พันล้านบางคนที่ผมดูแลอยู่ เชื่อมั๊ยครับว่าห้องนอนเล็กกว่าห้องน้ำผมอีก รกไปด้วยเอกสารทรัพย์สมบัติ โฉนด สัญญาเงินกู้ มีที่นอนเก่าๆ กองให้นอนอยู่อันนึง กลางห้อง กลางวันก็นั่งกินข้าวแกงคนเดียวทุกวัน หาเงินหาทองแต่ไม่อยากกินไม่อยากใช้ เสียดายตังค์  ท้ายสุดของคนกลุ่มนี้ที่รู้จักคือ ครอบครัวล่มสลาย เลิกรากันไป ลูกเต้าควบคุมไม่อยู่เพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาดูลูก ใช้ไอโฟน ไอแพด และยูทูปเป็นพี่เลี้ยงเด็ก และตัวเองก็ป่วยตายไปแบบอนาถา คือรวยแต่ไม่ได้เสวยสุขกับทุกสิ่งที่มี ตายอย่างเดียวดาย แล้วทิ้งสมบัติไว้ให้คนข้างหลังแก่งแย่งกันไป


แล้วเกี่ยวอะไรกับพม่าที่ยกมา ก็ลองเปรียบเทียบการใช้ชีวิตของเรากับคนกลุ่มนั้นดูสิครับ วันปกติก็ทำงานหนัก รองรับแรงด่าของนายจ้าง แต่พอหมดเวลาทำงาน คนเหล่านี้รู้จักที่จะใช้เวลาว่างออกมาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ มาออกกำลังกาย มาท่องเที่ยว รวมกลุ่มกันสรวลเสเฮฮา แต่ในขณะที่พวกเรานักขายหลายคน ผมเชื่อว่ามีหลายคนที่วันๆ นั่งเฝ้าหน้าจอ ไม่กระดิกกระเดี้ย นานๆ ก็ขยับไปแพคของ เอาของออกไปส่งแล้วก็กลับมาเฝ้าจอใหม่ กินนอนอยู่ข้างจอนั่นแหละ (ใครเป็นแบบนี้บ้างยกมือขึ้น 555)
 

หลายคนบอกอยากมีชีวิตอิสระ อยากออกจากงานประจำอันโหดร้ายออกมามีอิสระ นั่งขายของออนไลน์ แต่ก็กลายเป็นแค่การเปลี่ยนที่นั่งทำงานนั่นเอง ยังคงต้องนั่งทำงานหน้าจอทั้งวันเหมือนเดิม


แล้วแบบนี้คุณภาพชีวิตเราคืออะไรครับ

  1. มีรูปบ้านโชว์คนอื่น
  2. มีรูปรถป้ายแดงโชว์คนอื่น
  3. ใส่ทองเส้นใหญ่ๆ
  4. ได้บอกคนอื่นว่ายุ่งมาก ไม่มีเวลาทำอะไรเลย ต้องนั่น นู่น นี่

-         หรือมันคืออะไรที่คุณนึกไม่ออก ไม่เคยรู้เคยเห็นว่าคุณภาพชีวิตมันคืออะไร


เรื่องนี้คงจบแบบไม่มีข้อสรุปครับว่าแบบไหนถึงเรียกว่าคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะมาตรฐานการวัดของแต่ละคนไม่เหมือนและไม่เท่ากัน ก็เอาเท่าที่คุณสบายใจเลยครับ แต่อย่าลืมว่า ชีวิตเรา เรามีสุขภาพมาชุดเดียว มีพ่อแม่ มีครอบครัวมาชุดเดียว มีสังคมมากลุ่มเดียว ของเหล่านี้ไม่มีสำรอง เสียแล้วเสียเลย ยกเว้นคุณจะเป็นมนุษย์มโน เพ้อฝันอยู่กับวิมานที่ตัวเองสร้างและเอามาอวดในสังคมมโนโซเชียลก็เอาที่สบายใจเลยครับ ที่สำคัญหากชีวิตมันจะวุ่นวนก็ขอให้วุ่นวนกับชีวิตตัวเอง อย่าไปเสียเวลาวุ่นวนกับชีวิตของคนอื่นเลยครับ

picture credit : http://www.jowanncastles.com/wp-content/uploads/2014/10/AL-Inspiring-Quote-on-Talent-vs-Hard-Work.png

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ขั้นตอนการส่งออกพระพุทธรูปออกไปต่างประเทศ



ขั้นตอนการส่งออกพระพุทธรูปออกไปต่างประเทศ

วันนี้ไปทำเรื่องส่งออกพระมาครับ เลยมาเล่าขั้นตอนให้ผู้ที่ยังกังวลสับสนเรื่องการส่งออกได้ทราบกัน
สมัยก่อนเราต้องไปขอใบอนุญาตส่งออกที่กรมศิลปากร ตรงวัดเทวสุนทร เทเวศน์ โดยไปกรอกเอกสารก่อน จากนั้นรออีก 2 วัน แล้วเอาพระไปให้ตรวจอนุมัติ แล้วรออีกสามวัน หากเรื่องผ่าน ใบอนุญาตก็จะออกมาครับ แต่.... ตอนนี้ระบบมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว มาดูกันว่าขั้นตอนใหม่เขาทำยังไงครับ
1.       เริ่มจากไปที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ สนามหลวง ไปที่ห้องกองควบคุมโบราณวัตถุ โดยเตรียม
a.       องค์พระที่ต้องการส่งออก
b.      สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ของผู้ที่จะส่ง
c.       ชื่อ ที่อยู่ผู้รับ
d.      รูปถ่ายองค์พระหน้าตรงขนาด 4x6 จำนวน 2 ใบเหมือนกัน พื้นหลังขาว ไม่มีอะไรมาร่วมในรูป และต้องอัดรูปมาเท่านั้นไม่ใช่พิมพ์ออกมา แบบนั้นโดนตีกลับอย่างเดียวครับ
e.      ใบเสร็จรับเงินจากร้านที่เช่าพระ
f.        แนะนำให้ไปวันจันทร์ อังคารคนจะน้อย วันอื่นคนเพียบ






2.       ในห้อง ท่านยื่นเอกสารทุกอย่างให้กับพนักงาน แกะพระตั้งบนโต๊ะ แล้วนั่งรออย่างสงบเสงี่ยม พูดน้อยๆ เข้าไว้แล้วเรื่องจะเสร็จเร็ว แต่หากไปโชว์เก๋าที่นั่น พูดเยอะเกินความจำเป็น พระของคุณอาจจะไม่ผ่านอนุมัติได้ นั่งรอเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบพระ เจ้าหน้าที่ที่นี่ใจดีทุกคน ยิ้มแย้ม พูดจาดี เขาถามอะไรก็ค่อยตอบ ไม่ต้องไปบรรยายอะไรมากมายครับ
3.       หลังตรวจเสร็จ เจ้าหน้าที่ก็จะเอาลดมาผูกกับองค์พระและปั๊มตะกั่วลงไป แล้วกรอกข้อมูลเข้าระบบคอมพิวเตอร์ เสร็จแล้วเขาจะให้เลขเข้าระบบคอมพิวเตอร์กับคุณ ถือเป็นอันเสร็จสิ้นงานในวันนี้
4.       วันต่อมา เข้าไปที่เว็บ http://nsw.finearts.go.th/ เพื่อตรวจสอบว่าคำขอของคุณอนุมัติหรือไม่ หากอนุมัติแล้ว ข้อมูลจะเข้าไปที่ รอการชำระค่าธรรมเนียม จากนั้นคุณก็พิมพ์ฟอร์มชำระเงิน นำไปจ่ายที่ธนาคารกรุงไทย
ค่าธรรมเนียม
ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง   สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
       ค่าธรรมเนียมศิลปวัตถุประเภทพระพุทธรูป  สมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ถึงปัจจุบัน
      - ขนาดยาวหรือสูงเกิน  ๑๐๐ เซนติเมตร                                           ชิ้นละ  ๓๐๐  บาท
      - ขนาดยาวหรือสูงเกิน ๕๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑๐๐  เซนติเมตร             ชิ้นละ  ๒๐๐  บาท
      - ขนาดยาวหรือสูงไม่เกิน  ๕๐  เซนติเมตร                                        ชิ้นละ  ๑๐๐  บาท
      ค่าธรรมเนียมศิลปวัตถุ  สมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ถึงปัจจุบัน
      - ขนาดยาวหรือสูงเกิน  ๑๐๐ เซนติเมตร                                           ชิ้นละ  ๒๐๐  บาท
      - ขนาดยาวหรือสูงเกิน ๕๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑๐๐  เซนติเมตร             ชิ้นละ  ๑๐๐  บาท
      - ขนาดยาวหรือสูงไม่เกิน  ๕๐  เซนติเมตร                                        ชิ้นละ   ๕๐  บาท


5.      หลังชำระเงิน วันต่อมาให้เข้าเว็บอีกครั้งเพื่อตรวจสอบว่าใบอนุญาตออกแล้วหรือยัง หากออกแล้วก็ไม่ต้องดีใจไป เดี๋ยวจะรีบพิมพ์ออกมาแล้วส่งของทันที เพราะมีแค่ใบอนุญาตศุลกากร กับสายการบินก็จะไม่ให้พระของคุณขึ้นเครื่องไปเพราะยังไม่มีตั๋วขึ้นเครื่องครับ (สายการบินบอกใบอนุญาตแบบนี้ใครก็พิมพ์ปลอมออกมาได้ ซึ่งก็มีคนทำแบบนั้นจริงๆ ตอนนี้เขาเลยเข้มงวดมากครับ)  ให้ท่านรีบโทรไปติดต่อที่กรมศิลปากรอีกครั้ง เพื่อให้เขาออกบัตรผ่านให้ครับ (สำหรับบริษัทส่งออกเอกชน เช่น DHL เขาสามารถพิมพ์ใบอนุญาตส่งออกแล้วนำส่งได้เลยโดยไม่ต้องรอบัตรครับ)


6.      หลังรับสายเขาจะพิมพ์บัตรให้ท่านสองใบ เสร็จแล้วให้ท่านรีบไปรับมาเพื่อส่งของครับ
a.       บัตรสีชมพู ให้ท่านนำไปแขวนไว้กับพระพุทธรูปเพื่อยืนยันการอนุญาตส่งออก ก่อนบรรจุกล่องให้แน่นหนา
b.      บัตรสีฟ้า เพื่อยืนยันการจ่ายค่าธรรมเนียมศุลกากรเรียบร้อยแล้ว ให้เอาใบนี้ยื่นกับเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ตอนส่งของครับ ใบนี้แทน CN 22 ได้เลย
c.       เพียงท่านทำครบขั้นตอนตามนี้ พระของท่านก็จะขึ้นเครื่องได้อย่างไม่มีปัญหา ไม่โดนตีกลับมาให้ต้องปวดหัวเรื่องเคลียร์เงินคืนให้ลูกค้าครับ




ข้อมูลนี้ได้จากการขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ในวันนี้ครับ  หากมีความคลาดเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ต้องขออภัยด้วย

ปล. แล้วพระแบบไหนที่ต้องขออนุญาตส่งออก
ตอนนี้พระพุทธรูป เครื่องาง กุมารทอง ฤาษี นางกวัก หรืออะไรที่มีลักษณะลอยตัว เป็นหุ่น เป็นรูปปั้นต้องขอหมดทุกองค์ครับไม่มีข้อยกเว้น ของที่ส่งออกได้เลยคือพวกพระเครื่องแขวนคอ องค์เล็กๆ ครับ ส่วนท่านที่ชอบแอบส่งเศียรพระจะเล็กจะใหญ่ วันนี้อาจส่งได้ ไม่โดนจับ โดนคืนของ แต่วันหน้าหากโดนจับได้ ท่านอาจโดนเคลียร์คดีย้อนหลังเอานะครับ ระวังกันไว้ด้วย 




โชคดีครับทุกท่าน

เอ กันตภณ

สิบขั้นง่าย ๆ ที่ทำไม่ง่ายก่อนจะก้าวสู่ยอดขายระดับล้าน

พี่คะเห็นพี่คนนั้นคนนี้เขาขายของได้เดือนละเป็นล้านสองล้านเลย หากหนูอยากได้บ้างต้องทำยังไงคะ???? อันดับแรกเลิกบ่นครับ งานเยอะปัญหาเยอะเป็นเร...